มารยาททางสังคมในห้องเรียน

มารยาททางสังคมในห้องเรียน 

             มารยาทเป็นคำที่หลายๆคนรู้จักและคุ้นเคยกันดี แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจความหมายและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง หากกล่าวไปแล้วคำว่ามารยาทนั้น หมายถึงกริยาวาจาที่เรียบร้อย เทียบกับคำภาษาอังกฤษได้ว่า Etiquette ซึ่งหมายรวมถึง การแสดงออกทางกาย วาจาและใจ ถ้าไปในทางที่สุภาพเรียบร้อย ถือว่ามีมารยาทดี การมีมารยาทดีเปรียบเสมือนมีอาภรณ์ประดับกายที่งดงาม เป็นที่ชื่นชนและยอมรับของบุคคลรอบข้าง ผู้ที่มีมารยาทดีมักประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน เนื่องจากได้รับการยอมรับและเชื่อถือทางสังคม การมีมารยาทดีจึงเปรียบเสมือนในเบิกทางไปสู่ความสำเร็จ บุคคลทั่วไปจึงควรเรียนรู้ความมีมารยาท เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งในสังคมปัจจุบันนี้ดิฉันเห็นว่าการที่มนุษย์ทุกคนจะเข้าใจความหมายของมารยาทและฏิบัติได้นั้น ต้องถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เยาว์วัย เพราะการอบรมเลี้ยงดูให้เด็กเป็นผู้ที่มีมารยาทที่เหมาะสม เพื่อเป็นการช่วยเสริมสร้างคุณลักษณะที่ดี หรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ จนเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งควรพิจารณาถึงความสำคัญของการอบรมไว้ 3 ประการ ดังนี้

 1. การอบรมให้เด็กเป็นคนสุภาพเรียบร้อยอ่อนน้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
       1.1 ทางกาย ได้แก่ การมีกิริยามารยาทที่เรียบร้อยในการพูด นั่ง เดิน ยืน ต้องไม่ให้พรวดพราดถูกผู้อื่น หรือถูกสิ่งของล้มหรือดังโครมคราม เมื่อผู้ใดกำลังดูอะไรอยู่ไม่ต้องยืนบังหน้าขวางสายตาเขา ไม่เดินตัดหน้าผู้อื่นในระยะใกล้ชิด ถ้าจำเป็นต้องทำ ดังนั้นก็ต้องกล่าวคำขอโทษเขาก่อน อย่ายืนค้ำศีรษะคน อย่าเดินเสียดสีกระทบกระทั่งผู้อื่น อย่าหยิบสิ่งของข้ามกรายผู้อื่น ไม่โยนหรือเสือกไสสิ่งของให้ผู้อื่น 
       1.2 ทางวาจา ได้แก่ การระวังคำพูด ต้องรู้จักใช้เสียงให้นุ่มนวลออ่นหวานอย่าใช้เสียงตวาด กระโชกกระชาก หรือพูดห้วน ๆ ต้องไม่กล่าวคำหยาบ หรือพูดกับผู้ใดก็อย่าดังจนเกินไป ควรพูดให้ดังพอสมควร ในขณะที่ผู้อื่นพูดเราต้องไม่พูดสอด พูดรวน หรือแย่งพูดให้เขาพูดจนจบ เสียก่อนแล้วจึงพูด และคนที่พูดก่อนนั้นก็ต้องรู้จักหยุดพูดให้คนอื่นเขาพูดบ้าง อย่าพูดเสียคนเดียวในเวลาที่คนอื่น ๆ เขาต้องการความเงียบเพื่อทำงานหรือคิดตริตรอง 
       1.3 ทางใจ ได้แก่ การไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน ไม่แสดงความกำเริบหยิ่งยโส ถ้าพบสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้โกรธก็ต้องไม่แสดงความโกรธออกมาให้เห็น ต้องไม่บันดาลโทสะจนเสียกิริยา ไม่ปล่อยใจให้ตกอยู่ในความโลภ โกรธ หลง มีสติสัมปชัญญะมั่นคง 

 2. เด็กควรได้รับการอบรมสั่งสอนให้เป็นคนมีสัมมาคารวะ รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ รู้จักเคารพผู้อื่นและเคารพสิ่งที่ผู้อื่นเขาเคารพ ดังนี้
          2.1 ทางกาย เด็กต้องมีกิริยาสุภาพเรียบร้อย เมื่ออยู่เฉาะหน้าผู้ใหญ่ เช่น ต้องไม่ยืนพิง ยืนส่ายหัวไปมา ต้องไม่นั่งไขว่ห้าง ไม่นั่งกระดิกเท้าหรือเขย่าเข่า ไม่นั่งเหยียดเท้าหรือนั่งขัดสมาธิ ควรนั่งให้เรียบร้อย ถ้ายืนรวมกันหรือนั่งรวมกันกับผู้ใหญ่ต้องไม่ขึ้นไปนั่งหรือยืนข้างหน้าผู้ใหญ่ถ้าเดินก็ต้องไม่เดินข้างหน้า หรือเดินผ่านผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่นั่งเด็กไม่ควรนอน ไม่ยืนหรือนั่งหันหลังให้ผู้ใหญ่ เมื่อพบผู้ใหญ่ผู้น้อยต้องเป็นฝ่ายแสดงความเคารพผู้ใหญ่ก่อน และผู้ใหญ่ต้องแสดงความเคารพตอบการแสดงความเคารพของไทยมีการไหว้ การกราบ การคำนับ การยืนตรง ก็ต้องใช้ให้เหมาะสมกับเวลา บุคคลสถานที่และโอกาส 
           2.2 ทางวาจา คนไทยต้องรู้จักกล่าววาจาสุภาพและแสดงถึงความเคารพผู้อื่น เช่น ไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่ ไม่ล้อเลียนผู้ใดให้เขาได้อาย ไม่กล่าวถึงสิ่งที่ไม่ดีของผู้ที่เขารักใคร่นับถือให้เขาฟัง ไม่กล่าวเสียดสีเยาะเย้ย แดกดัน ถากถางผู้อื่น ไม่นินทาว่าร้ายให้เขาเสียหาย ต้องไม่กล่าววาจาติเตียนสิ่งที่ผู้อื่นเคารพ เมื่อตนทำพลาดพลั้งล่วงเกินผู้อื่นโดยไม่จงใจ ควรกล่าวขอโทษเขาเสมอเมื่อผู้อื่นทำประโยชน์ให้แก่ตน แม้เขาจะทำตามหน้าที่ก็ควรกล่าวคำขอบคุณเขาด้วย
           2.3 ทางใจ ต้องมีใจเคารพผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ต้องมีความนอบน้อมนับถือผู้ใหญ่ และต้องมีใจอ่อนโยน เมตตากรุณาต่อผู้น้อย 

3. เด็กควรได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีกิริยามารยาทเป็นที่น่ารัก การทำตนให้เป็นที่น่ารักของผู้อื่น หมายถึง การไม่ทำสิ่งใดให้ขัดใจผู้อื่น ไม่สร้างความไม่พอใจให้ผู้อื่น ต้องแสดงกิริยามารยาทให้เข้ากับผู้อื่นได้ ดังนี้
            3.1 ทางกาย ต้องไม่แสดงกิริยาที่ขัดขวางสิ่งที่นิยมกัน เช่น ขณะที่เขานั่งอยู่กับพื้นตนเองต้องไม่ไปยืนอยู่ในเวลาที่เขายืนเดินกันอยู่ก็ต้องไม่นั่งกับพื้น หรือเวลาเขานั่งเรียนกันก็ไม่ควรนอนเล่นในห้องเรียน ในเวลาที่เขามีทุกข์โศกต้องไม่แสดงกิริยาที่รื่นเริง ในสถานที่ที่เขารื่นเริงกันก็ไม่ต้องทำกิริยาเศร้า ควรแสดงกิริยาสนุกสนาน เบิกบานให้เหมาะสมกับเหตุการณ์และผู้อื่น ในเวลาที่อยู่ร่วมกลุ่มกันต้องไม่กระซิบกระซาบกับผู้ใดผู้หนึ่งเป็นพิเศษ หรือพูดด้วยวาจาที่ผู้อื่นไม่เข้าใจ เมื่อพบใครต้องไม่จ้องดูเขาอย่างเพ่งพิศ หรือดูตลอกตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า หรือแสดงความสนใจในเครื่องแต่งกาย หรือรูปร่างอันผิดปกติของเขา  
             3.2 ทางวาจา ต้องไม่กล่าวถึงสิ่งอัปมงคลในเวลาที่เขามีวานมงคล ต้องไม่พูดตลกโปกฮาในเวลาที่เขาพูดกันเป็นงานเป็นการ และไม่ควรนำเรื่องการงานมาพูดขัดจังหวะที่เขาจะพูดคุยสนุกสนาน ต้องไม่พูดอะไรให้ผู้อื่นเก้อกระดากอาย ไม่ค่อนแคะติรูปกายเครื่องแต่งตัวของผู้อื่น ไม่ควรโอ้อวดความเก่งหรือความดีของตนเอง ซึ่งจะทำให้เขารำคาญ ถ้าเขาเล่าปรับทุกข์เรื่องใดก็ควรแสดงความเห็นใจ หากเขาต้องการความเห็นใจจึงค่อยแนะนำ แต่ไม่ควรกล่าวตำหนิโทษเขาตรง ๆ  
             3.3 ทางใจ ต้องรู้จักเกรงใจคนอื่น ไม่เอาแต่ใจตนเอง 
            
             จากในข้างต้นนี้ สามารถสรุปได้ว่า บุคคลที่มีมารยาทที่เหมาะสม จะต้องเป็นผู้มีความสุภาพอ่อนน้อม ทั้งทางกาย วาจา ใจ มีสัมมาคารวะ รู้จักเคารพผู้อื่น ตลอดจนแสดงกิริยามายาทให้เข้ากับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมกับบุคคลและโอกาส 

              การมีมารยาทนั้นมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ปฏิบัติ และส่วนร่วม จะขอกล่าวถึงในด้านตนเองก่อนเนื่องจากการมีมารยาท เพราะเป็นการเสริมบุคลิกลักษณะของตนเองให้เป็นผู้มีเสน่ห์ เป็นที่ชื่นชม นิยมหรือนับถือแก่ผู้ที่ได้พบเห็น ได้ติดต่อด้วย และส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติมีสุขภาพดี เพราะท่วงท่าที่เป็นมารยาทอันดีงามนั้นทำให้ร่างกายมีความสมดุล ไม่เป็นสาเหตุของโรคภัยในภายหลัง ส่วนในด้านประโยชน์แก่ส่วนรวม จะทำให้สังคมมีความสงบสุข ทำให้ผู้ที่อยู่ในสังคมเดียวกันไม่ได้รับความเดือดร้อน              
              สำหรับการมีมารยาทในห้องเรียนนั้นเป็นสิ่งที่หลายท่านไม่ค่อยให้ความใส่ใจกันมากเท่าใดนัก แต่ดิฉันเห็นว่า การมีมารยาทในห้องเรียนเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนให้เกิดเป็นนิสัย เพราะต้องกระทำเป็นประจำด้วยความเคยชิน ผู้มีมารยาทที่ดีงามนอกจากจะช่วยสร้างเสริมบุคคลิกลักษณะที่ดี เป็นที่ยกย่องนับถือ แก่บุคคลทั่วไปแล้ว ยังแสดงถึงการเป็นผู้มีความเจริญทางจิตใจ และวัฒนธรรมอันดีงาม  

              ในการอบรมสั่งสอนเรื่อมารยาท ควรได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เยาว์วัย นอกจากบ้านจะเป็นแหล่งถ่ายทอดกิริยามารยาทให้กับเด็กแล้ว สถานศึกษาก็เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ฝึกฝนให้เด็กมีความประพฤติ และกิริยามารยาทที่ดี มีกฎข้อบังคับและระเบียบวินัยให้นักเรียนหรือนักศึกษาถือปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบ เรียบร้อยและความสงบสุขในการอยู่ร่วมกัน หากนักเรียนรือนักศึกษาปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของโรงเรียน หรือกฎเกณฑ์ของห้องเรียนด้วยการแสดงกิริยา วาจาที่สุภาพเรียบร้อย ยิ้มแย้ม แจ่มใส รู้จักควบคุมอารมณ์ แสดงว่า นักเรียนหรือนักศึกษามีกิริยามารยาทที่ดี นอกจากนี้ดิฉันยังจะขอกล่าวถึงพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาในห้องเรียน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
          1. พฤติกรรมที่พึงประสงค์ หมายถึง พฤติกรรมที่นักเรียนนักศึกษาแสดงออกได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ เช่นไม่รบกวนเพื่อนขณะเพื่อนทำงาน ฟังอาจารย์ขณะที่อาจารย์สอน ทำงานที่อาจารย์มอบหมายจนสำเร็จ เป็นต้น
          2. พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หมายถึง พฤติกรรมที่นักเรียนนักศึกษาแสดงออกไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ และไม่เป็นที่ยอมรับของอาจารย์ เช่น ลุกจากโต๊ะเดินไปเดินมา ส่งเสียงรบกวนเพื่อนร่วมชั้นเรียน จับกลุ่มคุยแข่งกับอาจารย์ที่สอนอยู่หน้าชั้นเรียนหรือสนใจในการอ่านหนังสือนิตยสารแฟชั่นมากกว่าบทเรียนในชั่วโมง การนอนในห้องเรียนขณะที่อาจารย์การกำลังสอน การไม่ปิดเสียงโทรศัพท์ขณะเรียน เพราะเป็นการรบกวนสมาธิของผู้อื่นในห้องเรียน และการคุยโทรศัพท์ในขณะที่อาจารย์กำลังบรรยาย เพราะสื่อถึงความไม่เคารพอาจารย์และไม่มีความเกรงใจผู้อื่น ข้อนี้ดิฉันเห็นเป็นประจำในเวลาเรียนไม่ว่าจะระดับปริญญาตรีหรือระดับปริญญาโท และยังมีอีกเรื่องที่ดิฉันเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คือการนำสัมภาระมาวางไว้ที่เก้าอี้ข้าง ๆ เพราะจะเป็นการไปกันที่นั่งคนอื่น ทำให้เขาไม่กล้านั่ง เป็นต้น
          ดิฉันเห็นว่ากิจกรรมการเรียนการสอนไม่สามารถดำเนินไปด้วยดีและขาดประสิทธิภาพ ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชั้นเรียนและไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ ทั้งนี้ เนื่องมาจากนักเรียนนักศึกษามีมารยาทในชั้นเรียนไม่เหมาะสม หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม นั่นคือการไม่สนใจเรียน ไม่ตั้งใจเรียน ขาดสมาธิในการเรียน ไม่รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ขาดเรียนบ่อย พูดคุยขณะที่อาจารย์กำลังสอน ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่มีน้ำใจ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัย อีกทั้งแสดงกิริยามารยาทที่ไม่เหมาะสมทั้งทางกาย วาจา ใจ ฉะนั้นกิจกรรมการเรียนการสอนจะดำเนินไปได้ด้วยดีมีประสิทธิภาพ และอาจารย์จะต้องส่งเสริม และปลูกฝังให้นักเรียนนักศึกษาเป็นผู้ที่มีมารยาทที่ดีด้วยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี 
           จากข้างต้นอาจกล่าวสรุปได้ว่า มารยาทในห้องเรียนเป็นสิ่งที่ควรอบรมสั่งสอนและฝึกปฏิบัติให้แก่นักเรียนนักศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนการสอนของนักเรียนนักศึกษาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น 

ปล. เรื่องเก่าเล่าใหม่แต่คนเขียนคนเดิมจร้า พี่เป้งเอง จำรหัสผ่านตัวเองไม่ได้ กรรมเมื่ออายุมากขึ้นความจำก็ทดถอย

ความคิดเห็น